ผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่า ประชากรโลกเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป การทำงานหนัก มีประชุมทั้งวัน กลับบ้านดึก กินอาหารแล้วเข้านอนทันที ใช้ชีวิตโดยไม่ได้ออกกำลังกาย เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มนุษย์ออฟฟิศเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น
เบาหวานมาจากไหน
เรามักจะเข้าใจว่าโรคเบาหวานมาจากน้ำตาล แต่นั่นเป็นการเข้าใจที่ผิด เพราะเบาหวานไม่ได้เกิดจากน้ำตาลที่อยู่ในอาหารแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากเซลล์ของร่างกายและฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้นมีส่วนสำคัญต่อโรคเบาหวาน น้ำตาลที่ส่งผลดีต่อร่างกายนั้นจะให้สารกลูโคส ซึ่งส่งผ่านไปตามเส้นเลือด และเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน สมองจะควบคุมการทำงานของน้ำตาล หากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ตับอ่อนจะสร้างฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อควบคุมน้ำตาล
เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือเกิดอาการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือด เพื่อใช้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มที่ จนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดในปริมาณที่มากเกินปกติ หากร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมโทรม เกิดโรค และอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้
เบาหวานแบ่งเป็น 2 ประเภท
เบาหวานประเภท 1 เป็นประเภทที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน และเบาหวานประเภท 2 เป็นประเภทที่ร่างกายได้รับฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือฮอร์โมนอินซูลินไม่ทำงาน จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเรา ทำให้พบโรคเบาหวานประเภท 2 มากขึ้นซึ่งไม่เพียงแต่พบในผู้ที่อยู่ในวัยทำงานเท่านั้น แต่ยังพบในเด็กและเยาวชนซึ่งมีน้ำหนักเกินมาตรฐานอีกด้วย
เบาหวานนั้นมักจะไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะแรก ๆ แต่จะมีข้อสังเกตดังนี้
- มีอาการหิวน้ำผิดปกติ และดื่มน้ำหลายลิตรต่อวัน
- ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หมดแรง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หิวบ่อย หิวมาก
- น้ำหนักลดทั้ง ๆ ที่กินอาหารปกติ
- เกิดอาการคันที่ผิวหนัง
- สายตาพร่ามัว
- มีอาการแผลอักเสบ
- แผลหายช้า
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- เยื่อหุ้มสมองผิดปกติ
สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อป้องกันเบาหวานประเภท 2
- หากอ้วนผิดปกติควรลดน้ำหนัก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ร่างกายได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เช่น เดิน ครั้งละ 30-45 นาที
- กินอาหารประเภทให้พลังงานต่ำและไม่ขัดขาว
- กินสลัดและผักสดมากกว่าอาหารประเภทอื่น
- ลดปริมาณของหวาน
- กินอาหารโปรตีนทุกมื้อ
- ใช้น้ำมันมะกอกในการประกอบอาหาร
- หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 5 ลิตรต่อวัน (น้ำธรรมดาที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ)
จากความเชื่อที่ว่าเบาหวานเกิดจากกรรมพันธุ์ที่ส่งต่อสู่รุ่นลูก รุ่นหลานได้ แต่อันที่จริงแล้ว ทุกคนล้วนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งนั้น และกลับกันหากเราดูแลตัวเองอย่างดี ทั้งเรื่องการกิน ออกกำลังกาย และการพักผ่อน ต่อให้มี 10 คนในบ้านเป็นเบาหวาน เราก็จะเป็นคนที่รอดจากโรคได้อยู่ดี